fbpx
skip to Main Content

ระบบการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา

ระบบการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา แบ่งเป็นระดับต่างๆ ได้ดังนี้

ระดับอนุบาล

การศึกษาระดับนี้ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ  แต่เป็นการเรียนเพื่อปรับพื้นฐานในช่วงอายุ 3-6 ปีก่อนที่จะเริ่มเรียนอย่างจริงจังในระดับประถมศึกษา  ชีวิตการเรียนของเด็กอเมริกันเริ่มต้นด้วยโรงเรียนเตรียมอนุบาล หรือโรงเรียนอนุบาล ตั้งแต่อายุประมาณ 3 ขวบ เด็กอเมริกันจะเริ่มต้นเข้าเรียนอย่างจริงจังเมื่ออายุ 6 ขวบบริบูรณ์ โดยระดับประถมศึกษาจะเริ่มตั้งแต่ Grade 1 – 6 ซึ่งเทียบกับระบบการศึกษาของประเทศไทย คือประถมศึกษาปีที่ 1 – 6

ระดับประถมศึกษา (Elementary School)

เป็นการศึกษาภาคบังคับ สำหรับเด็กอายุ 6 ปี มีระยะการศึกษา 6 ปี คือเข้าเรียนในชั้น Grade 1  ถึง Grade 6 ซึ่งตรงกับประเทศไทยคือ ประถมศึกษาปีที่ 1-6

ระดับมัธยมศึกษา (Secondary School)

การศึกษาภาคบังคับของอเมริกานั้น ทุกคนจะได้รับสิทธิเรียนฟรี จนกระทั่งถึงเกรด 12 (Grade 12) หรือจบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับเด็ก 12-18 ปี แบ่งเป็นช่วงที่ 2 คือ Grade 7 และ Grade 8 หรือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Junior High School) และช่วงที่ 3 คือ Grade 9 ถึง Grade 12 เป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Senior High School) โดยทั่วไปสำหรับเด็กที่เข้าเริ่มเรียนตามปกติ และเรียนต่อเนื่องไปโดยไม่ขาดตอน จะสำเร็จการศึกษา Grade 12 เมื่อ อายุประมาณ 18 ปี ซึ่งนับว่าสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  1. โรงเรียนรัฐบาล นักเรียนทุนส่วนตัว มีสิทธิ์เรียนได้เป็นเวลา 1 ปี เท่านั้น
  2. โรงเรียนเอกชน มี 3 รูปแบบ

    1. Independent School หรือ Prep. School เพื่อเตรียมนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี
    2. Parochial School โรงเรียนศาสนาโรมันคาธอลิค
    3. Bible School หรือ Christian School สอนศาสนาควบคู่กับวิชาการ
รายชื่อหมวดวิชาที่ต้องเรียนในระดับนี้
  • ภาษาอังกฤษ (English)
  • คณิตศาสตร์ (Math)
  • วิทยาศาสตร์ (Sciences)
  • สังคมศึกษา (Social Studies)
  • ภาษาต่างประเทศ (Foreign Languages)
  • พลศึกษา (Physical Education)
  • ศิลปะ (Art)
  • ดนตรี (Music)
  • Home Economics
  • Industrial Arts

นักเรียนในระดับนี้ต้องเรียนวิชาพื้นฐานคือภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และอาจต้องเรียนภาษาต่างชาติ หรือพลศึกษาด้วย

ระดับอุดมศึกษา (Higher Education)

สถาบันระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกามีมากกว่า 3,000 แห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน การเรียนในระดับอุดมศึกษานั้น หากนักศึกษาต้องการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในรัฐที่ตนเองไม่ได้มีถิ่นฐานอยู่แล้ว จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เรียกว่า Out of States Tuition เพิ่มขึ้นมาด้วยโดยสถาบันในระดับอุดมศึกษา จะแบ่งได้ 7 รูปแบบ ดังนี้

  1. State College หรือ University วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยทั่วไปทั้ง 50 รัฐของสหรัฐอเมริกาจะมีวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่ได้รับเงินอุดหนุนโดยตรงจากรัฐบาล  อัตราค่าเล่าเรียนจะแตกต่างกันระหว่างนักศึกษาที่เป็นคนของรัฐนั้นกับนักศึกษาที่มาจากรัฐอื่น  สถาบันอุดมศึกษาส่วนมากจะมีคำว่า State University หรือ State College  ตามด้วยชื่อของรัฐหรือเมืองนั้นๆ เช่น California State University
  2. Private College หรือ University วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยของเอกชนหรือมูลนิธิ  มีระบบการบริหารโดยกลุ่มเอกชน  อัตราค่าเล่าเรียนจะสูงกว่าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

    College และ University  หมายถึงสถาบันอุดมศึกษาที่รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ Grade 12  โดยมีความแตกต่างกันดังนี้

    College  เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี  แยกสาขาศิลปศาสตร์ (Bachelor of Arts) และวิทยาศาสตร์ (Bachelor of Science) ระดับการศึกษาแบบวิทยาลัย 4 ปีนั้นจะให้ความสำคัญกับระดับปริญญาตรีหรือเตรียมนักศึกษาเพื่อเข้าเรียนในระดับวิชาชีพชั้นสูง (Professional School)  เช่น  แพทยศาสตร์  กฎหมาย  สถาปัตยกรรมศาสตร์  เภสัชศาสตร์  เป็นต้น

    ส่วน University    เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี  โท  และ เอก  ประกอบด้วยคณะ (College) ต่างๆ หลายสาขาวิชา  เช่น  ศิลปศาสตร์  วิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์  มนุษยศาสตร์และสถาบันวิชาชีพ (Professional School)  ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก  เน้นการวิจัยค้นคว้าและพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการขั้นสูง  ดังนั้น University จึงเป็นแหล่งรวมของสาขาวิชาการต่างๆ มีจำนวนนักศึกษา  อาจารย์ และมีพื้นที่กว้างขวาง  ตั้งเป็นวิทยาเขต หรือ Campus แยกออกจากชุมชน

    การเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี 4 ปี สามารถแยกได้เป็น 2 ระดับ คือ 2 ปีแรก เรียก Freshman และ Sophomore นักศึกษาจะต้องเรียนวิชาพื้นฐานในหลายสาขา  เช่น  สังคมศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ศิลปะ  ประวัติศาสตร์  วรรณคดี  บางแห่งบังคับวิชาด้านศาสนาและปรัชญา  และอีก 2 ปีหลังเรียก Junior และ Senior ซึ่งนักศึกษาจะต้องเลือกวิชาเอก (Major) วิชาโท (Minor) และวิชาเลือก (Electives) ตามความสนใจ

  3. Two-year College  หรือ Junior College  สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับอนุปริญญา (Associate Degree) มีทั้งของรัฐบาลและเอกชน  ผู้สำเร็จอนุปริญญาสามารถเข้าทำงานและประกอบอาชีพได้เลย  เช่น  ช่างเทคนิค และงานกึ่งวิชาชีพ  หรือสามารถย้ายโอนเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีอีก 2 ปี  ในมหาวิทยาลัย
  4. Community College   วิทยาลัยชุมชน  ไม่แตกต่างจาก Junior College แต่เน้นหลักสูตร 2 ปี  ที่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น  นักศึกษาส่วนมากมีงานทำแล้วและกลับมาเรียนภาคค่ำ  ไม่มีหอพัก  อัตราค่าเล่าเรียนไม่สูงมากและชั้นเรียนขนาดเล็ก
  5. Professional School  สถาบันวิชาชีพชั้นสูง  ทางด้านศิลปะ  ดนตรี  วิศวกรรมศาสตร์  การแพทย์  บริหารธุรกิจ  บางครั้งจะเป็นส่วนหนึ่งของ University หรือแยกเป็นเอกเทศ  ส่วนมากเป็นหลักสูตรปริญญาโทและเอก
  6. Institute of Technology สถาบันเทคโนโลยี  เน้นการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก  บางแห่งมีหลักสูตรถึงระดับปริญญาโทและเอก  รวมถึงมีการเปิดหลักสูตรสั้นๆ ในสาขาเฉพาะทางด้วย
  7. Technical Institute  สถาบัน/วิทยาลัยเทคนิค  หลักสูตรช่างเทคนิค  1-2 ปี  เช่น  ด้าน Medical Technology  เพื่อเตรียมนักศึกษาสู่อาชีพ  ช่างฝีมือในลักษณะต่างๆ ส่วนมากมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบอาชีพ  และบางครั้งไม่สามารถโอนเครดิตเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้

ส่วนคู่มือศึกษาต่อต่างประเทศ TIECA GUIDE TO INTERNATIONAL EDUCATION 2006ได้แบ่งระดับอุดมศึกษา แบ่งเป็น 4 ประเภท  ดังนี้

  1. วิทยาลัยแบบ 2 ปี หรือ วิทยาลัยชุมชน (Junior Colleges and Community Colleges) การศึกษาในระดับนี้ มี 2 ลักษณะ คือ แบบ Transfer Track และแบบ Terminal/Vocational Track

    • Transfer Track เป็นหลักสูตรที่เป็นวิชาพื้นฐาน 2 ปีแรกของการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยจะต้องลงเรียน รายวิชาบังคับ (General Education Requirements) จากนั้นนักศึกษาสามารถ โอนหน่วยกิต (Transfer) ไปยังมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐหรือเอกชนเพื่อศึกษาต่อในระดับชั้นปีที่ 3 โดยที่เกรดเฉลี่ยที่นักศึกษาทำได้ในระหว่าง 2 ปีนี้ จะเป็นตัว กำหนดว่านักศึกษาจะได้รับการตอบรับ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ที่ต้องการหรือไม่
    • Terminal / Vocational Track เป็นหลักสูตรอนุปริญญาสายวิชาชีพ หลังจากที่เรียนจบในระยะเวลา 2 ปีแล้วนักศึกษาจะได้รับ วุฒิอนุปริญญา (Associate Degree) ทางสาขาวิชาที่เลือก
    • วิทยาลัย (Colleges) เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนในสาขาวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) และปริญญาโท ซึ่งหลังจากที่เรียนจบหลักสูตรแล้ว วุฒิบัตรที่ได้รับจะมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยทุกประการ ไม่ว่าสถาบันนั้นจะเป็นของรัฐหรือเอกชนก็ตาม
    • มหาวิทยาลัย (University) เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีขึ้นไป มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาโท และเอกใน สาขาต่าง ๆ เน้นการสอนและการค้นคว้าวิจัยในแง่วิชาการ
ระยะเวลาในการศึกษา
  1. ปริญญาตรี  4  ปี
  2. ปริญญาโท (1 – 2 ปี)
  3. ปริญญาเอก (4 ปี)
  4. สถาบันเทคโนโลยี (Institute of Technology) โดยส่วนใหญ่ มักจะมุ่งเน้น ที่การเรียนการสอนในสาขา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึง ระดับปริญญาโท และเอก
ภาคการศึกษา

สถานศึกษาในสหรัฐอเมริกาใช้ภาคการศึกษาหลายแบบแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของสถานศึกษา และความนิยมของท้องถิ่น ได้แก่

ระบบ Semester

เป็นระบบที่นิยมใช้กันมากที่สุดในระยะเวลาหนึ่งปีจะประกอบด้วย 2 semester และ 1 – 2 summer sessions แต่ละ semester ยาวประมาณ 15-16 สัปดาห์ดังนี้

Fall Semester เปิดประมาณ ปลายเดือน สิงหาคม – ธันวาคม
Spring Semester เปิดประมาณ กลางเดือน มกราคม – พฤษภาคม
Summer Semester เปิดประมาณ กลางเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม

ระบบ Quarter

ในหนึ่งปีแบ่งออกเป็น 4 Quarters โดยแต่ละ Quarter นานประมาณ 10 สัปดาห์ ดังนี้

Fall Quarter เปิดประมาณ กลางกันยายน – ธันวาคม
Winter Quarter เปิดประมาณ มกราคม – กลางมีนาคม
Spring Quarter เปิดประมาณ เมษายน – กลางมิถุนายน
Summer Quarter เปิดประมาณ กรกฎาคม – สิงหาคม

ระบบ Trimester

ใน 1 ปี แบ่งเป็น 3 เทอม ๆ ละ ประมาณ 3 เดือน

First Trimester เปิดประมาณ กันยายน – ธันวาคม
Second Trimester เปิดประมาณ มกราคม – เมษายน
Third Trimester เปิดประมาณ พฤษภาคม – สิงหาคม

ระบบ 4-1-4

เป็นระบบใหม่ที่ใช้ในสถานศึกษาราว 8 % ในสหรัฐอเมริกา แบ่งปีการศึกษาออกเป็น 2 ภาคใหญ่ คั่นด้วยภาคเรียนสั้น ๆ ที่เรียนกว่า Interim เพื่อให้นักศึกษาไปทำการค้นคว้าด้วยตนเองหรืออก Field Trip แบ่งภาคเรียน ดังนี้

Fall Semester เปิดประมาณ กันยายน – ธันวาคมเปิดประมาณ เดือน มกราคม (1 เดือน)เปิดประมาณ กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม
Interim
Spring Semester

ปีการศึกษาในสหรัฐอเมริกา (Academic year) จะเริ่มประมาณเดือนกันยายน ถึง พฤษภาคม ระยะเวลาประมาณ 9 – 10 เดือน การกำหนดภาคการศึกษาจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความต้องการของสถานศึกษา และความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ

Back To Top