fbpx
skip to Main Content

เกร็ดความรู้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

การก่อตั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (อังกฤษ : Harvard University อ่านว่าฮาร์เวิร์ด) เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลก และเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา โดยก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1636 ปัจจุบัน (2552) มีอายุครบ 373 ปี

กลุ่มผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคือ คณะนักบวชที่เรียกตนเองว่า "เพียวริตัน" ซึ่งอพยพมาจากประเทศอังกฤษโดยได้ตั้งวิทยาลัยขึ้นโดยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างนักบวชเพื่อให้สามารถเผยแพร่ศาสนาตามแนวทางของลัทธิตนได้ โดยเริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1636 ใช้ชื่อว่า "เดอะ นิว คอลเลจ" (The New College) และเมื่อ 13 มีนาคม ค.ศ. 1639 ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ วิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard College) ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอห์น ฮาร์วาร์ด นักบวชผู้ได้ทำพินัยกรรมบริจาคหนังสือจำนวนประมาณ 400 เล่มและเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ทางวิทยาลัย และในปี ค.ศ. 1780 วิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจนถึงปัจจุบัน

ผู้บริหารมหาวิทยาลัย

อธิการบดี (President) คนปัจจุบัน Drew G. Faust
อธิการบดีคนที่ 28 เป็นอธิการบดีหญิงคนแรกของมหาวิทยาลัย Harvard
อดีต คณบดี Radcliffe Institute

หลักสูตรและการเรียนการสอน

การจัดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีการจัดหลักสูตรที่กว้างและลึกดังที่ คมกริช วัฒนเสถียร ได้กล่าวถึงการจัดหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ไว้ว่า ปัจจุบันนี้คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีการเพิ่มหลักสูตรวิชากฎหมายสมัยใหม่ให้ครอบคลุมเนื้อหามากขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีตนั้นหลักสูตรวิชากฎหมายที่กำหนดไว้มีเพียง 40 – 50วิชาเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีวิชากฎหมายที่ศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ100 ถึง 200 วิชา หมวดวิชากฎหมายบางวิชานอกจากจะเพิ่มวิชาแล้วยังมีการเพิ่มหลักสูตรการเจาะลึกลงไปในแต่ละวิชาให้ละเอียดมากขึ้นเรียกว่า Advanced Course เพื่อให้นักศึกษามีความรู้เป็นผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายเฉพาะด้านเป็นอย่างดี สามารถนำไปประกอบอาชีพทางกฎหมายได้เมื่อสำเร็จการศึกษากฎหมายแล้ว

การสอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีชื่อเสียงมากในเรื่องคุณภาพทางวิชาการ คุณภาพของอาจารย์ที่สอนและคุณภาพของนักศึกษา โดยศิษย์เก่าและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รับรางวัลโนเบลรวมกัน 75 รางวัล และรางวัลพูลิตเซอร์ 15 รางวัล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีชื่อเสียงอีกด้านหนึ่งคือ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกที่มีการเปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ (MBA) ขึ้นมา ณ Harvard Business School มีคณาจารย์เข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายท่าน และได้ผลิตผู้บริหารองค์กรทางธุรกิจที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ทำให้นักธุรกิจหรือผู้ประสงค์ที่จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจจาก ทั้งในและนอกประเทศเข้ามาเรียนกันเป็นจำนวนมาก

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้กล่าวถึงวิธีการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยฮารวาร์ด ไว้ดังนี้

  1. การสอนแบบกรณีศึกษา (Case Study) ฮาร์วาร์ดได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นวิธีการเรียนการสอนแบบกรณีศึกษา ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนและผู้สอนมีความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ ทั้งจากภายในและนอกห้องเรียน ซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมการศึกษา ที่ให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะในการแสวงหาความรู้ เพื่อให้เข้าถึงในเรื่องนั้น ๆ อย่างลึกซึ้งได้
  2. การสอนที่นำผู้เรียนสู่การปฏิบัติจริง เพื่อการฝึกทักษะผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน  ผู้สอนจะมีกิจกรรมหลายรูปแบบในการฝึกทักษะที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียน เช่น ในวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการสื่อสาร จะมีการจัดกิจกรรมที่ฝึกการพูดในที่ชุมนุมชน ฝึกการเขียนบทความ การเขียนสุนทรพจน์ ในวิชาที่ว่าด้วยการฝึกฝนภาวะผู้นำ ผู้เรียนจะได้ฝึกการเป็นผู้นำในหลายรูปแบบ เช่น การให้ผู้เรียนเปลี่ยนกันเป็นผู้นำกลุ่มย่อยระหว่างสัปดาห์ ดูภาพยนตร์ ฟังเพลงเพื่อวิเคราะห์ภาวะผู้นำและการตอบสนองต่อสถานการณ์ของผู้นำประเภทต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนที่มีการนำสิ่งรอบตัวมาเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกตื่นตัวในการร่วมกิจกรรมเหล่านั้น
  3. การสอนที่เน้นสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนค้นคว้าก่อนเข้าห้องเรียน ในบางวิชาผู้สอนจะมีโครงร่างการเรียนการสอน (Course syllabus) ที่ละเอียด ทั้งหนังสือที่ต้องอ่าน วัตถุประสงค์ในการเรียนการสอนแต่ละคาบวิชา สะท้อนให้เห็นว่า ผู้สอนวางแผนล่วงหน้าในการสอนอย่างดี ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจกับหัวข้อที่จะเรียนในแต่ละคาบวิชาก่อนเข้าเรียน ประกอบกับการเข้าชั้นเรียนแต่ละสัปดาห์ผู้สอนมักมีคำถามให้ผู้เรียนตอบคำถามก่อนเข้าเรียนทุกครั้ง และมีการให้คะแนนในสิ่งที่ผู้เรียนตอบ รวมถึงในบางวิชาจะให้เพื่อนร่วมชั้นได้ประเมินงานของเพื่อนแต่ละคน วิเคราะห์สิ่งที่เพื่อนร่วมชั้นแสดงความคิดเห็น ซึ่งระบบการให้คะแนนเช่นนี้ ส่งผลให้ผู้เรียนจำเป็นต้องอ่านหนังสือและค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ
  4. การสอนที่ใช้สื่อหลากหลายและมีคุณภาพ การเรียนการสอนในแต่ละวิชามีเป้าหมาย เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าถึงแหล่งความรู้ที่ดีที่สุด โดยพบว่าแต่ละวิชา ผู้สอนจะคัดเลือกหนังสือที่ดี มีชื่อเสียง ที่ได้รับการยอมรับโดยการตีพิมพ์ในหลายภาษา มาให้ผู้เรียนได้อ่านประกอบการเรียนการสอน รวมถึงมีบทความ มีชุดหนังสือประกอบการสอนแต่ละคาบ (Course package) ที่รวมบทความ ข้อเขียนของคนดังในเรื่องนั้น ๆ มารวมไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น The Prince ของ Machiavelli The Republic ของพลาโต สุนทรพจน์ของประธานาธิบดี Roosevelt John F. Kennedy รวมถึงประธานาธิบดีบุชหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ทำให้ผู้เรียนได้เข้าถึงองค์ความรู้ที่ดีที่สุดในวิชานั้น ๆ ฯลฯ
  5. การสอนที่มุ่งทำวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ การศึกษาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่ใช่เป็นการเรียนเพื่อสอบให้ผ่านเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียนทุกคนต้องทำวิจัยหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นต้นฉบับ โดยคณาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษาในการทำวิจัย จะเข้มงวดในการให้คำปรึกษาและมีส่วนในการควบคุมคุณภาพการผลิตผลงานวิจัยของผู้เรียน อันเป็นที่มาที่ส่งผลให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผลิตบุคลากรที่ได้รับรางวัลโนเบล 15 รางวัล พูลิตเซอร์ 15 รางวัล ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และมีส่วนในการผลิตผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในสาขาต่างๆ มากมายกระจายไปทั่วโลก
  6. การสอนโดยคณาจารย์ที่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจง  โดยอาจารย์ผู้สอนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในวิชาที่สอนอย่างลึกซึ้ง ซึ่งทำให้ลงรายละเอียดในภาคปฏิบัติและทฤษฎีได้อย่างสมดุล ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและเห็นภาพในภาคปฏิบัติอย่างชัดเจน เช่น การนำผู้ที่มีประสบการณ์ในการเป็นผู้อำนวยการจัดทำโครงการหาเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคเดโมเครตมาสอนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการเลือกตั้ง การนำผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และทำงานอยู่ในองค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจมาสอนในวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นต้น
ด้านคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะไม่รับนักศึกษาที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาใหม่มาเป็นอาจารย์ ซึ่งต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นที่ให้โอกาสนักศึกษาของตนเองเข้ามาสอน โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะให้ผู้ที่จะมาเป็นอาจารย์ออกไปสร้างผลงานก่อน เช่น การได้รางวัลทางวิชาการต่าง ๆ หรือมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ มีประสบการณ์การทำงานในสาขานั้นอย่างเฉพาะเจาะจง และที่สำคัญอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องแข่งขันกันรักษาตำแหน่งของตนเอง โดยการสร้างผลงานวิชาการภายใน 5 ปี เพราะมหาวิทยาลัยให้ค่าตอบแทนกับอาจารย์สูงมาก ประกอบกับมหาวิทยาลัยมีการหมุนเวียนอาจารย์ผู้สอนทุกปี เพื่อผลิตนักศึกษาและผลงานวิชาการที่มีคุณภาพสูง อันเป็นแรงกดดันอย่างหนักที่ทำให้อาจารย์ผู้สอนที่ไม่มีผลงานทางวิชาการพ้นจากตำแหน่งเมื่อใดก็ได้

การบริการการศึกษา

อาคารห้องสมุด

ในปัจจุบันห้องสมุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ชื่อว่าเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยมีอยู่จำนวนมาก รวมถึงพิพิธภัณฑ์ ที่จัดไว้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะเป็นผู้หางบประมาณเพื่อมาสนับสนุน โดยการระดมเงินบริจาค และระดมทุนสนับสนุนการวิจัยจากรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ปัจจุบันเงินกองทุนที่หามาได้มีจำนวนสะสมถึง 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,050,000-1,080,000 ล้านบาท) ทำให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษา ดึงดูดคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ และนักศึกษาได้อย่างเต็มที่และเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีงบประมาณสูงที่สุดในโลก คือ 25.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากฮาร์วาร์ดมีจำนวนมาก รวมถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จำนวน 8 คน ได้แก่ จอห์น แอดัมส์, จอห์น ควินซี แอดัมส์, จอห์น เอฟ. เคนเนดี, แฟรงกลิน รูสเวลต์, ทีโอดอร์ รูสเวลต์, รัทเทอร์ฟอร์ด เฮส์, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และบารัค โอบามา นอกจากนี้ยังมี บิล เกตส์ มหาเศรษฐี เจ้าของบริษัทคอมพิวเตอร์ไมโครซอฟท์ (ดรอปเรียนในช่วงปริญญาตรี อายุ19 ปี เพื่อไปศึกษาค้นคว้าทางด้านคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง และต่อมาทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ประสาทปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในปี ค.ศ. 2007)

สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมีจำนวนมาก เช่น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, ดร. คุณหญิง กษมา วรวรรณ, ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล, ชุมพล ณ ลำเลียง, บัณฑูร ล่ำซำ, ดร. ประสาร ไตรรัตนวรกุล, ศ. เดชา บุญค้ำ, ศ. ดร.นพ.เทพพนม เมืองแมน, ธารินทร์ นิมมานเหมินท์, ศ. ดร. บุณรอด บิณฑสัณฑ์, พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตประจิต) , ศ. ดร. คุณหญิง สุชาดา กีระนันทน์, ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย, ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ, ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร, ศ. ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ดร. อัมมาร สยามวาลา, ดร. สายพิณ ศุพุทธมงคล, วนิษา เรซ รวมไปถึงดารานักร้อง อาทิเช่น ณัฐ ศักดาทร ปรีชา ชัยอนันต์

Back To Top